เพลงสรรเสริญพระบารมี
เรียบเรียง โดย ไพบูลย์ บุณยเกียรติ
เพลงสรรเสริญพระบารมี (Royal anthem) เป็นเพลงยกย่องเชิดชูพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย เป็นเพลงที่มีความสำคัญมากกับสังคมไทยและคนไทยทุกคนและเป็นเพลงที่คนไทยรู้จักกันดีเพลงสรรเสริญพระบารมี มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมากมีรายละเอียดดังนี้
หม่อมเจ้าหญิง พูนพิสมัย ดิสกุล ได้ทรงกล่าวไว้ว่า ในสมัยโบราณก่อนที่ไทยเราจะมีเพลงสรรเสริญพระบารมี “เวลาที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระโรงจะมีทำนองเพลงเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาบรรเลงเป็นเสียง แอ่ แอ๊ แอ่ แอ่ แอ้ แอ แอ๊ ด้วยแตรงอนเป่าเข้ากับกลองชนะนำปี่พาทย์เวลาประโคม ...” นี่แสดงว่าเพลงยกย่องสรรเสริญพระมหากษัตริย์มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการใช้เครื่องดนตรีบรรเลงประกอบแล้ว (พูนพิสมัย ดิสกุล, 2511)
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยเราได้รับอิทธิพลทางสังคมจากแบบตะวันตกมามาก (westernization) และในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงโปรดฯ จัดให้มีการทหาร ทั้งทหารบกและทหารเรือตามแบบประเทศยุโรป กล่าวคือสำหรับทหารบกโปรดฯให้ร้อยเอกอิมเปย์ (Captain Impey) นายทหารอังกฤษ จัดตั้งกองทหารที่เรียกว่า ‘ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป’ โดยมีร้อยเอกนอกซ์ (Captian Knox) เป็นครูทหารวังหน้า ส่วนทหารเรือ ทรงโปรดฯให้จัดทหารตามแบบอังกฤษทุกประการ เมื่อจัดการทั้งทหารบกและทหารเรือแล้ว สิ่งที่จำเป็นจะต้องจัดให้มีขึ้นในกองทหารเหล่านี้ก็คือ ‘กองแตรวง’ สำหรับบรรเลงประกอบการเข้าแถวและตั้งแถวกองเกียรติยศ และเพลงที่บรรเลงคือเพลงมาร์ช ‘God Save the Queen’ ตามแบบฝรั่งที่ใช้บรรเลงทั้งรับและส่งเสด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่ง ส.พลายน้อยกล่าวไว้ว่า “God Save the Queen เพลงนี้เห็นจะใช้อยู่นาน ปรากฏว่า เมื่อเซอร์ ยอห์น โบว์ริ่ง ราชทูตอังกฤษเข้ามาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ก็ได้บันทึกไว้ว่า เวลาที่เรือพระที่นั่งผ่านไป พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานคำนับแก่ข้าพเจ้า แตรวงได้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่ใช้เพลง God Save the Queen ของอังกฤษ...”
ในปีพ.ศ. ๒๔๑๔ ในต้นรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประภาสชวา และขณะประทับอยู่ที่สิงคโปร์ ทหารอังกฤษได้ใช้เพลง God Save the Queen บรรเลงเพลงรับเสด็จ และเมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองปัตตาเวีย จึงเป็นเหตุให้พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะต้องจัดให้มีเพลงชาติของไทยขึ้นเพื่อแตรวงบรรเลงรับเสด็จ เมื่อพระองค์เสด็จกลับสู่ประเทศไทย จึงโปรดฯให้เรียกหาผู้ชำนาญเพลงดนตรีไทยมาปรึกษา เพื่อหาเพลงไทยที่ควรจะนำมาใช้เป็นเพลงถวายคำนับรับเสด็จ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบรรยายไว้ในสาสน์สมเด็จตอนหนึ่งมีความว่า ครูดนตรีไทยที่ปรึกษาในครั้งนั้น คงจะเป็นคุณมรกตครูมโหรีหลวง พระประดิษฐไพเราะ (ครูมีแขก) และพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) ทั้ง ๓ ท่านได้คัดเลือกเพลงไทยเพลงหนึ่งซึ่งมีกำเนิดขึ้นในรัชกาลที่ ๒ และมีชื่อว่า ‘เพลงสรรเสริญพระบารมี’ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะ ต่างก็ได้พิจารณาเห็นว่าเพลงไทยเพลงนี้เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น และมีชื่อเป็นทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีไปพลางก่อน และโปรดฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อยอาจารยางกูร) แต่งบทร้องถวายพระพรเพื่อประกอบทำนองเพลงเป็นโคลงกระทู้ดังนี้
ความ สุขสมบัติทั้ง บริวาร
เจริญ พละปฏิภาณ ผ่องแผ้ว
จง ยืนพระชนนาม นับรอบ ร้อยแฮ
มี พระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยงจันทร
เพลงสรรเสริญพระบารมีที่ประพันธ์ขึ้นใหม่โดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิมนั้น เมื่อได้นำไปใช้ก็ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ลักษณะของเพลงนี้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ กล่าวคือเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองและจังหวะไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเพลงคำนับบรรเลงด้วยแตรวงเหมือนเพลงฝรั่งทั้งหลาย เมื่อทรงเห็นเช่นนั้น พระองทรงโปรดฯให้ มร.เฮวุตเซน(Mr.Hevutzen) ชาวฮอลันดา ซึ่งเป็นครูแตรอยู่ที่เมืองปัตตาเวีย ให้มาเป็นครูแตรทหารมหาดเล็กและเข้าเฝ้าฯ พระองค์พระราชทานทำนองเพลงฝรั่งบทหนึ่ง ซึ่งพระองค์ได้ทรงได้ฟังเมื่อครั้งเสด็จสิงคโปร์คือทำนองเพลง God Save the Queen มร.เฮวุตเซน ได้ทราบถึงพระราชประสงค์โดยละเอียดแล้วก็ได้นำเพลงนั้นมาปรับปรุงเรียบเรียงขึ้นมาใหม่จนเป็นต้นเค้าของทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้
การปรับปรุงทำนองเพลงใหม่ของ มร.เฮวุตเซนนั้น อาจารย์
ส่วนในด้านการแยกเสียงประสานมร.ฟุสโค (Mr.Fusco) ครูแตรวงทหารเรือชาวอิตาลีอเมริกันได้เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานให้แตรวงทหารบกเป็นผู้บรรเลง และสำหรับบรรเลงด้วยปีอาโนนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงขอให้ มร. ยอร์ช (George) เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ดังปรากฏในสำเนาลายพระหัตถ์ถึง มร.ยอร์ช
เมื่อ ‘มร.ยอร์ช’ ได้ทำโน้ตปีอาโนเสร็จแล้ว ก็ส่งมาถวาย แต่ด้วยการที่เซ็นชื่อกำกับไว้ตรงแนวบรรเลงของปีอาโนแต่เพียงอักษรว่า ‘มิสเตอร์ยอร์ช’ หรือ ‘C.S.G.’ นั้นเป็นผู้ใด
อนึ่ง เพลงสรรเสริญพระบารมีนี้ เมื่อตอนที่มีเนื้อร้องขึ้นแล้ว มร.ยาคอบ ไฟต์ (M r. Jacob Feit) บิดาของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ได้เรียบเรียงสำหรับการขับร้องประสานเสียง ๔ แนวขึ้นเป็นครั้งแรก
ต่อไปนี้จะเป็นการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ ‘เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี’ โดยจะเริ่มจาก มร.เฮวุตเซน
เพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้ทำนองของ มร.เฮวุตเซนในสมัยเริ่มแรกนั้น มีเนื้อร้องซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และเนื้อร้องจะแตกต่างกันออกไปโดยแยกกันร้องพวกละอย่างไม่เหมือนกันคือ
เนื้อร้องที่1
อ้าพระนฤปจง ทรงสิริวัฒนา
จงพระพุทธศา สนฐีติยง
ราชรัฐจงจิรัง ทั้งบรมวงศ์
ฑีรฆดำรง ทรงกรุณาประชาบาล
ราชธรรม ธ รักษา เป็นหิตานุหิตสาร
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิ์ดัง วรหฤทัย
ดุจถวายชัย ฉะนี้ฯ (สำหรับพวกละครหลวงร้อง)
เนื้อร้องที่ 2
ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าวิริยพล
พลาสบสมัย กาละปิติกมล
ร่วมนรจำเรียงพรรค์ สรรดุริยพล
สฤษดิมณฑล ทำสดุดีแด่นฤบาล
ผลพระคุณะรักษา พลนิกายะศุขสานต์
ขอบันดาล พระประสงค์ใด
จงสฤษดิดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ฉะนี้ (สำหรับนักดนตรีขับถวาย)
ต่อมา สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์เนื้อร้องสำหรับพวกดนตรีชายหญิงขึ้นอีก และเพลงสรรเสริญพระบารมีที่มีเนื้อร้องขึ้นใหม่นี้ กรมศึกษาธิการได้ประกาศใช้ในโรงเรียนทั่วไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ โดยทรงรักษาพื้นเดิมของบทร้องอันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นี้ไว้เป็นส่วนมาก
เนื้อร้องที่เปลี่ยนใหม่บทนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการออกคำสั่งให้ใช้ได้ทั่วไปในโรงเรียนทั้งหญิงและชายเหมือนกันหมด เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ต่อมาอีกไม่นานทรงโปรดฯ ให้ทุกพวกทุกฝ่ายใช้เนื้อร้องใหม่บทนี้แต่เพียงบทเดียว และนับแต่นั้นมาเนื้อร้องบทนี้ที่พระองค์ท่านทรงมีส่วนในการสร้างสรรค์ก็ได้แพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วไป และได้ใช้กันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
อนึ่ง มีเรื่องที่น่ารู้และควรจะนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ นั่นคือเนื้อร้องของเพลงสรรเสริญพระบารมีบทก่อนๆ จะลงท้ายด้วยคำว่า ‘ฉะนี้’ แต่เนื้อร้องของเพลงสรรเสริญพระบารมีบทหลังสุดที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรับปรุงแก้ไขกลับลงท้ายด้วยคำว่า ‘ชโย’ สาเหตุที่เปลี่ยนคำว่า ‘ฉะนี้’ เป็น ‘ชโย’ ก็เนื่องมาจากเหตุที่คนร้องมักจะพิเรน ออกเสียงเป็น ชะนี ดังนั้นจึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนเป็น ‘ชโย’ และได้ใช้ร้องลงท้ายเรื่อยมาจนทุกวันนี้
เพลงสรรเสริญพระบารมี ฉบับปัจจุบัน
คำร้อง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ปรับปรุงขึ้นใหม่
ทำนอง เฮวุตเซน
ข้า ว ร พุท - ธ เจ้า เอา ม โนและ ศิ ระ กราน นบ พระ ภู มิ บาล บุญ ญะ ดิ เรก
เอก บร ม - ะ จัก ริน พระ ส ยา มินทร์ พระ ย ศะ ยิ่ง ยง เย็น ศิ ระ เพราะ พระ บ – ริ บาล
ผล พระ คุณ ธ รัก ษา ปวง ประ ชา เป็น สุข ศานต์ ขอ บัน ดาล ธ ประ สงค์ ใด
จง สฤษดิ์ ดัง วัง ว ร ห ฤ ทัย ดุ - จ ถ - วาย ชัย ช - โย
หนังสืออ้างอิง
กำพล จำปาพันธ์ .(2548). เพลงสรรเสริญพระบารมี. เรียกค้นได้วันที่ 10 มีนาคม 51 จาก http://www.Midnightuniv.org/midnight2545/document9687.html
พูนพิสมัย ดิสกุล.(2511). เพลงสรรเสริญพระบารมี. ชุมนุมดนตรีไทย. 1, 23.
มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ .(2537). เพลงชาติไทย. เจ.ฟิลม์ โปรเซส จำกัด