http://www.musiclandpiano.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

หน้าแรก

สินค้า

บทความ

 ถาม-ตอบ

หน้าติดต่อเรา

เพลงชาติไทย

 

เพลงชาติไทย

                                                                                                                                              เรียบเรียงโดย ไพบูลย์ บุณยเกียรติ

ดนตรีตะวันตกสู่ประเทศไทย

ดนตรีตะวันตก ได้เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยอย่างจริงจังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, รัชกาลที่ ๔ โดยที่ได้โปรดฯ ให้มีการจัดตั้งกองทหารฝึกแบบยุโรป ( ฝรั่ง ) ขึ้น ในการมีกองทหารเช่นนี้ จำเป็น ต้องมีการใช้เครื่องดนตรีตะวันตกบางชนิด เช่น ปี่ แตร กลอง บรรเลงประกอบการเดินแถวและกิจกรรมต่างๆ ของทหาร นอกจากนี้เมื่อมีพิธีรับและส่งเสด็จพระเจ้าอยู่หัวและผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่เป็นชาวต่างประเทศ กองทหารฝึกแบบยุโรปนี้จะต้องทำเพลงคำนับ God Save the Queen อันเป็นขนบทำเนียมของอังกฤษและหลายชาติในประเทศยุโรป

                ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กองทหารฝึกแบบยุโรปก็ได้รับการพัฒนาทั้งจำนวนพลและระบบให้รัดกุมยิ่งขึ้น และได้มีครูทหารแตรยศชั้นนายทหารซึ่งเป็นชาวยุโรปได้เดิน ทางมารับราชการในกองทับหลายท่าน ในบรรดาครูทหารแตรเหล่านั้นก็ได้มี มร. ยาคอบ ไฟต์ ชาวเยอรมัน ( บิดาของพระเจนดุริยางค์ ) รวมอยู่ด้วย ซึ่งทหารแตรเหล่านั้น ได้ทำการฝึกทหารไทยให้เล่นเครื่องดนตรีตะวันตกชนิดต่างๆ และได้จัดตั้งเป็นวงโยธวาทิตขึ้นในกองทัพบกและกองทัพเรือของไทย

                ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีการจัดตั้งวงเครื่องสายฝรั่งขึ้นบรรเลงทั้งเพลงตะวันตกและเพลงไทย เพื่อใช้ในโอกาสต่างๆ เป็นต้นว่า งานพระราชพิธี งานสโมสรสันนิบาต การบรรเลงคอนเสิร์ตและการบรรเลงประกอบการแสดงละครในราชสำนัก ซึ่งก็เท่ากับว่า ดนตรีตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนสำคัญในสังคมไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 กำเนิดเพลงชาติไทย (National Anthem)

เพลงชาติที่แต่งขึ้นนั้น เพื่อปลุกใจให้คนในชาติเกิดความรักชาติ เกิดความหวงแหนแผ่นดิน เสียสละเพื่อชาติ มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และที่สำคัญที่สุด เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกราชของชาติไทย ก่อนที่ประเทศไทยจะมีเพลงชาติดังที่ใช้ขับร้องในปัจจุบันนี้  เราได้มี เพลงชาติมหาชัย ขึ้นมาก่อน และเมื่อเพลงชาติในปัจจุบันได้กำเนิดขึ้นมา ก็ได้ถูกแก้ไขปรับปรุงโดยเฉพาะเนื้อร้องมาแล้วหลายครั้งจนกระทั้งเป็น เพลงชาติไทยดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

            ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๔ ได้เพียงสองสามวัน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ) ได้เอาเพลงมหาชัยมาดัดแปลงใส่เนื้อร้องและให้ชื่อเพลงใหม่ว่า เพลงชาติมหาชัยการที่ท่านเสนาบดีผู้นี้ได้กระทำเช่นนี้ก็เนื่องมาจากความประสงค์ของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเห็นว่าควรที่จะมีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับประชาชนใช้ขับร้องและกำลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันอยู่นั้น

                การที่เพลงชาติในปัจจุบันได้ถือกำเนิดขึ้นมานั้น ได้มีเค้าเริ่มขึ้นก่อนเพลงชาติมหาชัยที่กล่าวมานี้เสียอีกเรื่องราวได้มีปรากฏในบันทึกของพระเจนดุริยางค์ ( ปิติ  วาทยะกร ) มีใจความว่า

                “…ในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้าไปให้การอบรมที่วงดนตรีทหารเรือราวปลาย พ.ศ. ๒๔๗๔ ข้าพเจ้าได้พบปะกับเพื่อนนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่ง* ท่านผู้นี้ข้าพเจ้าคุ้นเคยรักใคร่และรู้จักสนิทสนมกันมาแต่ก่อนแล้ว เพื่อนของข้าพเจ้าผู้นี้เป็นผู้ที่รักวิชาการดนตรีอยู่บ้าง และชอบร้องเพลง ท่านได้ถือโอกาสมาพบข้าพเจ้าที่กองดุริยางค์ทหารเรืออยู่เนืองๆ และเฉพาะมาเวลาเดียววันเดียวกับที่ข้าพเจ้าไปให้การอบรม ณ ที่นั้นเสมอ แรกเริ่มเดิมที่ข้าพเจ้าก็มิได้ทราบความประสงค์อันแท้จริงของท่านในการที่พยายามมาพบข้าพเจ้าอยู่บ่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งท่านได้กระซิบร้องขอให้ข้าพเจ้าประพันธ์เพลงให้บทหนึ่ง โดยขอให้ทำนองเป็นเพลงที่มีความรู้สึกคล้ายคลึงกับเพลงชาติฝรั่งเศสที่ชื่อ ‘La Marseillaise’ ข้าพเจ้าตอบไปว่า ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เพราะเพลงชาติที่มีชื่อว่าสรรเสริญพระบารมีของเรานั้นก็มีอยู่แล้วแต่ท่านกลับตอบว่า ชาติต่างๆ เขาก็มีเพลงประจำชาติอยู่หลายๆบท เช่น เพลงธง เพลงราชนาวี เพลงทหารบก และอื่นๆอีกมากมาย ใคร่อยากจะให้คนไทยเรามีเพลงปลุกใจเพิ่มเติมขึ้นไว้อีกบ้าง เพราะเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นเป็นเพลงของพระมหากษัตริย์ แต่เพลงสำหรับประชาชนนั้นเรายังหามีไม่ ข้าพเจ้าจึงตอบปฏิเสธไปว่า ข้าพเจ้าจะรับทำเช่นนี้ไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นคำสั่งของทางราชการ ขอท่านเลิกความคิดนี้เสียเถิด แต่ท่านก็ตอบว่า ขอฝากไว้เป็นแนวความคิดไปพลางก่อน ในวันข้างหน้าจะมาวิสาสะกับข้าพเจ้าในเรื่องนี้อีก

                เมื่อท่านผู้นี้ได้จากข้าพเจ้าไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ปรึกษาหารือกับนายทหารเรื่ออีกท่านหนึ่งที่มีหน้าที่อยู่ในกองแตรวง เมื่อท่านผู้นี้ได้ทราบเรื่อง ก็เตือนข้าพเจ้าทันทีว่าให้ข้าพเจ้าระวังเพื่อนผู้นั้นให้จงหนัก ข้าพเจ้าตกใจเป็นที่สุดและพลันก็เข้าใจถึงความประสงค์ท่านที่ต้องการเพลงชาติใหม่ เพราะในเวลานั้นข้าพเจ้าได้ยินข่าวอกุศลมาบ้างแล้วว่าจะเกิดการปฏิวัติในไม่ช้า ข้าพเจ้าตั้งใจอย่างแน่วแน่ไว้แล้วที่หลีกทางให้พ้นจากเรื่องการเมืองไปเสีย โดยปลีกตัวมิยอมเข้าคลุกคลีในเรื่องเพลงนี้อีกต่อไป ซึ่งในการต่อมาแม้เพื่อนของข้าพเจ้าจะได้มาติดต่อกับข้าพเจ้าในเรื่องนี้อีกหลายครั้ง ข้าพเจ้าก็ประวิงเวลาอยู่เรื่อยๆ จนมาถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เพลงชาติที่เพื่อนของข้าพเจ้าต้องการนั้นก็ยังมิได้อุบัติขึ้น....

            หลังจากวันที่เกิดมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาอีก ๔ วัน ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ นายทหารเรือผู้นั้นได้ไปหาพระเจนดุริยางค์ และขอร้องให้ท่านแต่งเพลงชาติขึ้นใหม่ ทั้งนี้เพราะคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ค่อยพอใจเพลงชาติมหาชัยซึ่งใช้ทำนองเพลงมหาชัยอันเป็นเพลงที่นิยมบรรเลงในการรับเสด็จเจ้านายชั้นสูง และในการต้อนรับข้าราชการขุนนางชั้นผู้ใหญ่ อยากจะได้เพลงชาติที่เป็นแบบสากล และมีทั้งทำนองและเนื้อร้องที่แต่งขึ้นใหม่เป็นพิเศษจริงๆ และคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองได้ติดต่อและขอร้องให้พระเจนดุริยางค์แต่งเพลงชาติใหม่นี้ให้แล้วเสร็จภายใน ๗ วัน พระเจนดุริยางค์ได้บันทึกไว้ในอัตชีวประวัติของท่านมีใจความอีกว่า  

                ....ต่อมาอีก ๔ วันภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อการปฏิวัติได้สงบลงบ้างแล้ว การณ์ก็ปรากฏว่า เพื่อนของข้าพเจ้าผู้นี้เป็นผู้ร่วมก่อการด้วยคนหนึ่ง และได้มาปรากฏตัวต่อหน้าข้าพเจ้าอีกที่สวนมิสกวัน ท่านได้แสดงความเสียใจที่มิได้มีเพลงสำหรับขับร้องในวันปฏิวัติตามที่มุ่งหมายไว้ แล้วก็ขอร้องให้ข้าพเจ้ารีบจัดการประพันธ์ให้โดยด่วน อ้างว่าเป็นความประสงค์ของคณะผู้ก่อการ ระหว่าเวลาที่สภาพทางการเมืองกำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ก็ยากที่ข้าพเจ้าจะปฏิเสธอีกต่อไป จึงได้ขอร้องว่าหากข้าพเจ้าทำให้แล้วก็ขอได้กรุณาปกปิดนามของข้าพเจ้าให้มิดชิดด้วยและขอเวลา ๗ วัน เพื่อนของข้าพเจ้าก็รับคำแล้วก็ลาจากไป โดยต้องเข้าประชุมในการร่างรัฐธรรมนูญที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

                ในระหว่าง ๗ วันนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกกระวนกระวายใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยประสบมาในชีวิตเลย ไม่ทราบว่าจะตัดสินใจอย่างไรถูก เพลงก็คิดไม่ออกเพราะสมองหงุดหงิด เมื่อครบกำหนด ๗ วัน ในตอนเช้า ซึ่งข้าพเจ้าจำได้แน่นอนว่าเป็นวันจันทร์ ข้าพเจ้าก็เตรียมตัวมาปฏิบัติราชการตามเคยที่สวนมิสกวันขึ้นรถที่ถนนสุรวงศ์มาเปลี่ยนที่สี่แยก เอส.เอ.บี. และในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินทางอยู่ในรถรางสายนี้ ทำนองเพลงก็ก็บังเอิญปรากฏขึ้นมาในสมองของข้าพเจ้าอย่างครบถ้วน ข้าพเจ้าลงจากรถรางตรงเข้าไปยังที่ทำการที่สวนมิสกวัน ก็เริ่มจดบันทึกเพลงที่ได้ลงบนแผ่นกระดาษโน้ตเพลงทันทีเพื่อป้องกันมิไห้ลืม ข้าพเจ้าตรงเข้าไปที่ Piano ทดลองการประสานเสียง ก็พอดีเพื่อนเพื่อนของข้าพเจ้าเดินเข้ามาตามกำหนด ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้ดีด Piano ให้ฟังแล้ว ท่านก็พอใจเป็นอย่างยิ่ง เลยร้องขอให้ข้าพเจ้าแยกแนวและปรับเพลงนี้เข้าวงดุริยางค์ทหารเรือ ให้ทันการบรรเลงประจำสัปดาห์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมคือวันพฤหัสบดีต่อมา เพราะในเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ทางการจัดให้มีการบรรเลงดนตรีเป็นประจำทุกๆ วันพฤหัสบดีตอนบ่าย เพื่อการรื่นเริงของสมาชิกสภา เพลงที่ข้าพเจ้าประพันธ์นี้ก็ได้ถือโอกาสนำออกบรรเลงเพื่อทดลองความเห็นของสมาชิกทั่วๆ ไปด้วย ข้าพเจ้ารับรองว่าจัดทำให้เป็นที่เรียบร้อย พร้อมกันนั้นก็ได้กำชับเพื่อนของข้าพเจ้าอีกเป็นครั้งสุดท้ายว่า ให้สงวนนามของข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้ประพันธ์อย่างเด็ดขาด ท่านก็ได้รับปากไว้อย่างแมนมั่น....

            เป็นอันว่าเพลงชาติที่พระเจนดุริยางค์ได้แต่งขึ้นใหม่นี้ ได้บรรเลงเป็นครั้งแรกโดยวงโยธวาทิตของราชนาวี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ และพระเจนดุริยางค์ยังได้บันทึกต่อไปอีกว่า

                ....ครั้นต่อมารุ่งขึ้นตอนเช้า ข้าพเจ้าจับหนังสือพิมพ์ศรีกรุงซึ่งเคยรับเป็นประจำก็ได้ประสบกับข่าวที่ทำให้ต้องอกสั่นขวัญหาย ข่าวนั้นแจ้งว่า เมื่อวานได้มีการทดลองฟังการบรรเลงเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ ยกย่องว่าเป็นบทเพลงที่ไพเราะคึกคักน่าฟัง ทั้งกะทัดรัดกินเวลาเพียง ๔๕ วินาทีเหมาะสมที่จะยึดถือเอาเป็นเพลงชาติได้ ตอนท้ายได้นำเอานามของข้าพเจ้าลงตีพิมพ์ไว้ว่าเป็นผู้ประพันธ์เพลงบทนี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่าข้าพเจ้าจะไม่ตระหนกตกใจมากยิ่งเพียงไร ทั้งรู้สึกเดือดดาลต่อสหายที่รักของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้กำชับไว้แล้วว่าให้ปกปิดนามของข้าพเจ้าไว้ แต่นี้มาเปิดโปงเสียเช่นนี้ดูกระไรอยู่ ข้าพเจ้ารู้สึกหวาดในภัยที่คืบคลานมาสู่ตัวและครอบครัวของข้าพเจ้าเป็นที่สุด และแน่นอนที่เดียวในวันศุกร์ตอนเช้านั่นเอง ก็พอดีเวลา ๐๙.๐๐ น. เศษ ได้รับโทรศัพท์จากกระทรวงการวังว่าให้ข้าพเจ้าเข้าไปพบกับท่านเสนาบดี*เวลา ๑๐.๐๐ น. เป็นการด่วน  ข้าพเจ้าได้ออกจากที่ทำการทันทีมุ่งไปพบกับท่านเสนาบดีตามคำสั่ง เมื่อข้าพเจ้าได้มาประสบหน้าท่านเสนาบดีเข้าแล้ว ท่านก็ตวาดว่าข้าพเจ้าได้ไปทำอะไรไว้ในเรื่องเพลงชาติ รู้หรือไม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินเรายังอยู่ จะอะไรไว้ในเรื่องนี้ทำไม ไม่ปรึกษาขออนุญาตเสียก่อน แล้วกำชับให้ข้าพเจ้าชี้แจงเรื่องนี้มาให้ระเอียด ทั้งให้ส่งสำเนาเพลงชาตินั้นมาด้วย เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลในบ่ายวันนี้ ข้าพเจ้าตอบไปว่าเพลงนี้ข้าพเจ้าได้ประพันธ์ขึ้นเพื่อให้เพื่อนของข้าพเจ้าเป็นการส่วนตัวเท่านั้น มีแต่ทำนองล้วนๆ ไม่มีเนื้อร้องที่จะถือเป็นเพลงชาติได้ข้าพเจ้าเห็นว่าจะมีความผิดอย่างไร เพราะเพลงแบบนี้ใครๆที่มีความรู้ในการประพันธ์เพลงก็สามารถทำได้ทั้งนั้น แต่ก็ต้องสนองต่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จึงได้กลับมายังที่ทำการด้วยอารมณ์กระวนกระวายอย่างยิ่ง เมื่อได้กลับมาถึงที่ทำการแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รีบโทรศัพท์ไปยังเพื่อนของข้าพเจ้าทันที ในไม่ช้าท่านผู้นี้ก็ได้มาถึง เมื่อได้รับทราบข้อความต่างๆ แล้วก็ก็กลับไปยังพระที่นั่งอนันตอีก ภายหลังจึงได้ทราบว่าท่านผู้นี้ได้ไปพบกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ท่านนายกก็ได้รีบชี้แจงไปยังเสนาบดีกระทรวงการวัง เรื่องการประพันธ์เพลงนี้เป็นความดำริของท่านและสมาชิกสภาร้องขอมายังข้าพเจ้าข้าพเจ้ามิได้ทำขึ้นแต่โดยลำพัง ทั้งเพลงนี้เพียงอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้นยังมิได้อุปโหลกเป็นเพลงชาติและก็มิได้ลบล้างเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งเป็นเพลงของพระเจ้าแผ่นดินโดยเฉพาะ

                หลังจากนั้นต่อมา เมื่อคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องการจะให้มีเนื้อร้องสำหรับเพลงชาติขึ้น พระเจนดุริยางค์ก็ได้ติดต่อขอให้ขุนวิจิตรมาตรา ( สง่า กาญจนาคพันธ์ ) ประพันธ์เนื้อร้อง และขุนวิจิตรมาตราได้ประพันธ์เนื้อร้องดังนี้ (ตัวอย่างบางตอน)

                                แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง

                ไทยเข้าครองตั้งตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า

                สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา

ร่วมรักษาเอกราชชนชาติไทย (ฯลฯ)

                แม้ว่าเนื้อร้องและทำนองเพลงชาติใช้ขับร้องและบรรเลงกันย่างกว้าขวางหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ทางราชการก็ยังมิได้ประกาศรับรอง จนกระทั่งในเดือน สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเพลงชาติอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วยหม่อมเจ้าวรรณไว-ทยากร (ต่อมาได้ทรงเป็นพระองค์เจ้า และทรงกรมในพระนามพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ประธานกรรมการ  นาวาเอกพระเรี่ยมวิรัชชพากย์ ร.น.,พระเจนดุริยางค์, พระยาเสนาะดุริยางค์, พระเพลง-ไพเราะ, หลวงประดิษฐ์ไพเราะ, หลวงประสานดุริยางค์, หลวงชำนาญนิติเกษตรและจางวางทั่ว พาทยโกศล และนายมนตรีตราโมท เป็นเลขานุการ ผลของการพิจารณาตัดสินประกวดเพลงชาติของคณะกรรมการชุดนี้ ปรากฏว่าเพลงแบบไทยและแบบสากลอย่างละเพลงที่ชนะ  เพลงไทยได้แก่เพลงของจางวางทั่ว พาทยโกศล ซึ่งดัดแปลงจากเพลงตระนิมิตร ส่วนเพลงแบบสากล ใช้ทำนองเพลงชาติดั้งเดิมของพระเจนดุริยางค์

                อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาคณะกรรมการชุดนี้มีความเห็นว่า เพลงชาติควรจะอยู่ในลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์ หากมีเพลงชาติ ๒ เพลงเช่นนี้ อาจจะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์คลายลง จึงได้พิจารณากันใหม่ และลงมติให้เหลือไว้เพลงเดียว คือ เพลงแบบของพระเจนดุริยางค์

                คณะกรรมการชุดนี้จึงจัดให้มีการประกวดเนื้อร้องเพื่อให้เข้ากับทำนองเพลงชาติของพระเจนดุริยางค์ ซึ่ง  ผลการพิจารณาปรากฏว่า บทเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตราและบทร้องของนายฉันท์  ขำวิไล ที่แต่งขึ้นใหม่ชนะการประกวด และในที่สุดคณะกรรมการฯ ได้ตัดสินให้บทร้องของขุนวิจิตรมาตรา เป็นบทเนื้อร้องชนะเลิศ โดยประธานกรรมขอแก้ไขถ้อยคำบางส่วน

                เป็นอันว่าบทร้องของขุนวิจิตรมาตราที่แก้ไขแล้วนี้ ได้เริ่มใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยให้ขับร้องติดต่อกันเป็น ๔ เที่ยวตามลำดับบทร้อง แต่เท่าที่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป จะขับร้องเพียง ๒ เที่ยว แม้แต่เพียง ๒ เที่ยวก็ยังเห็นว่าค่อนข้างยาวและเสียเวลามากอยู่

                             ตัวอย่างของนายฉันท์ ขำวิไล

                                                เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต

                                                รักษาสิทธ์อิสระ ณ แดนสยาม

                                                ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม

                                               ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา (ฯลฯ)

                              ตัวอย่างของขุนวิจิตรมาตรา

                                                แผ่นดินสยามนามประเทียงว่าเมืองทอง

                                                ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า

                                                สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์บุราณลงมา

                                                ร่วมรักษาสามัคคีทวีไทย (ฯลฯ)

                ครั้นมาถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ทางราชการได้มีความดำริว่าทั้งเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นมีความยาวมากจึงได้พิจารณาเห็นควรตัดย่อให้สั้นลง โดยได้อ้างว่า เมื่อพิจารณาเพลงชาติของชาติต่างๆ จะเห็นว่าชาติใหญ่ชาติสำคัญมักใช้เพลงสั้นๆ แต่ชาติเล็กชาติน้อยมักใช้เพลงยาวๆ จนชอบกล่าวกันในหมู่ผู้รู้เพลงชาติต่างๆ ว่าชาติยิ่งเล็กเพลงยิ่งยาว ชาติยิ่งใหญ่เพลงยิ่งสั้น ดังนั้น ทั้งเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมีจึงมีอย่างละ ๒ แบบ คือ แบบพิษดาร (มีความยาวตามปกติที่ปฏิบัติกันมา) และแบบสังเขป (แบบใหม่ที่ตัดย่อให้สันลง)ตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นไป

                ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่อรัฐบาลได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยามมาเป็น ไทยเรื้อร้องของเพลงชาติที่มีคำว่า สยาม ก็จำเป็นจะต้องใช้คำว่า ไทย แทน และนอกจากนี้ทางราชการยังมีความต้องการที่จะให้บทร้องของเพลงชาติขับร้องจบได้เพียงเที่ยวเดียว และเป็นบทร้องที่ที่มีใจความรัดกุมและดีถึงขนาดจริงๆ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีอันมีจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนานกรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้เปลี่ยนแปลงเนื้อร้องเพลงชาติเสียใหม่ โดยได้ให้มีการประกาศจัดประกวดเนื้อร้องขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒  ผลของการประกวด ปรากฏว่า บทร้องของ พันเอกหลวงสานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ซึ่งส่งเข้าประกวดในนามของกองทัพบก ได้รับรางวัลชนะเลิศ

                 คณะกรรการการประกวดในครั้งนี้ซึ่งมี หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร (ต่อมาได้ทรงเป็นพระองค์เจ้า และทรงกรมในพระนามพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ทรงเป็นประธานกรรมการ และหลวง-วิจิตรวาทการ เป็นกรรมการด้วยท่านหนึ่ง ได้ลงความเห็นให้มีการแก้ไขถ้อยคำบางคำได้มีเรื่องกล่าวขวัญถึงความเพียรพยายามอย่างมิย่นย่อท้อถอยของหลวงสารานประพันธ์ ผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงชาติที่ส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลชนะเลิศนี้ ว่าท่านต้องใช้สติปัญญาครุ่นคิดอย่างหนักเป็นเวลาหลายวันหลายคืน จนได้เนื้อร้องเป็นครั้งแรก ๒ บทด้วยกัน

                 เมื่อท่านแต่ง ๒ บทนี้เสร็จ ท่านก็เอาแต่ละบทมาร้องซ้อมดู ปรากฏว่า ฟังดูแล้วมันยังขัดหูทั้งสองบท และที่พอจะนำไปปรับปรุงต่อไปได้ก็คือบทแรก ท่านก็ได้นำเอาบทแรกมาดัดแปลงให้ถ้อยคำมันกระชับปลุกใจและเร้าใจขึ้นอีก

                 คราวนี้ท่านนำบทที่ ๓ นี้ไปลองร้องเทียบเสียงกับเครื่องดนตรี ปรากฏว่า ถ้อยคำบางคำไม่เข้ากับเสียงดนตรีเลย ท่านก็มิได้ลดละความพยายามลงไปแม้แต่น้อย กลับมีมานะเพื่อจะเอาเนื้อร้องส่งเข้าประกวดให้ได้ ท่านได้แก้ไขปรับปรุงใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง

                 เมื่อบทที่ ๔ นี้เสร็จลง ท่านก็นำไปให้พระเจนดุริยางค์ผู้แต่งทำนองเพลงตรวจดู พระเจนดุริยางค์ได้ตรวจดูแล้วเห็นว่าเนื้อร้องบางคำยังไม่เข้าโน้ตเพลง ขอให้แก้ไขใหม่ พอมาถึงตอนนี้หลวงสาราฯ หมดแรงแทบจะวางปากกา แต่ท่านก็ได้ฉุกคิดว่า ตัวท่านก็เป็นชายชาติทหาร เลือดกองทัพบกไทยจะยอมแพ้เสียกลางคันก็จะดูกระไรอยู่ ท่านก็เลยเกิดมานะรวบรวมกำลังใจฮึดแก้ไขอีกครั้งเป็นครั้งที่ ๕

                 หลวงสาราฯ แต่งจบบทที่ ๕ นี้เสร็จ ก็นำไปเปรียบเทียบทำนองซ้อมเข้ากับดนตรี ซ้อมหวนไปหวนมาหลายครั้งหลายเที่ยวท่านก็ยังคงยิ้มไม่ออกอยู่ดี ท่านได้นำไปแก้ไขปรับปรุงอีก และเมื่อแน่ใจว่าเนื้อร้อง ทำนอง และ จังหวะ ถูกต้องเป็นที่สุดแล้วท่านจึงนำบทที่ ๖ ส่งเข้าประกวด ผลของการประกวดปรากฏว่า บทร้องของท่านได้รับรางวัลชนะเลิศดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

                พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ได้เขียนพรรณนาถึงความปราบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งที่บทร้องของท่านชนะเลิศการประกวดไว้ในบทความเรื่อง เนื้อร้องเพลงชาติไทย ๘๒ในวารสารวรรณคดี ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ปีที่ ๑ เล่มที่ ๑๑) มีความตอนหนึ่งว่า

                ....กาลเวลาล่วงมาจนวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๒ ซึ่งปรากฏว่าได้มีการทดลองให้คณะรัฐมนตรีผู้เป็นกรรมการตัดสินฟังโดยทหารกองแตรวง ร.พัน ๓ แล้ว กลางวันวันนั้นฉันก็ได้ฟังประกาศทางวิทยุกระจายเสียงว่า เนื้อร้องของกองทัพบกได้ชนะรางวัลที่ ๑ ทางราชการรับไว้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติต่อไป โดยคณะกรรมการได้แก้ไขเล็กน้อยให้ดียิ่งขึ้น... ฉันสารภาพตามตรงว่า พอได้ฟังประกาศแล้ว ก็บังเกิดความรู้สึกซาบซ่านทั่วสรรพางค์อย่างงเรียกว่า ขนชันทุกเส้นโลมา....

            ....ฉันได้สั่งบุตรธิดาของฉันไว้ทุกคนว่า ในกาลภายภาคหน้าเมื่อถึงวาระที่ฉันจะต้องเกษียณอายุโลกไปแล้ว ขณะใกล้จะขาดอัสสาสะ ขอให้หาจานเสียงเพลงชาติอันนี้มาเปิดให้ฟังจงได้ เพื่อบังเกิดความชุ่มชื่นระรื่นในใจ อันจะไม่มีเวลาเสื่อมสลายตราบสิ้นปราณ...

            เนื้อร้องที่แต่งโดยพันเอกหลวงสารานุประพันธ์มีดังนี้

                     ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

                เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน

                อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล

                ด้วยไทยล้วนหมาย รัก สามัคคี

               ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด

               เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่

               สละเลือดทุกอยาดเป็นชาติพลี

               เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

             เป็นอันว่านับตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นต้นมา ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศผลการประกวดเนื้อร้องใหม่ของเพลงชาติ ประเทศไทยได้มีเพลงชาติที่มีทำนองของพระเจนดุริยางค์ และเมื่อเนื้อร้องของกองทัพบกที่แต่งขึ้นโดยพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ใช้สืบต่อกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้

view

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      

สถิติ

เปิดเว็บ19/09/2007
อัพเดท28/10/2023
ผู้เข้าชม455,955
เปิดเพจ645,554
สินค้าทั้งหมด1

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

ติดต่อเรา

view